มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเข้าร่วมประชุม เรื่อง 2nd EdPEx National Forum : The EdPEx Sharing Day”

         มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี โดยอธิการบดี มอบหมายให้อาจารย์ ดร.จุติพร  อินทะนิน รองผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน พร้อมด้วย นางสาวน้ำฝน  แสงอรุณ รักษาการกลุ่มงานพัฒนาระบบคุณภาพการศึกษา เข้าร่วมประชุมเรื่อง “2nd EdPEx National Forum : The EdPEx Sharing Day”  ในระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมเซนจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร  โดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดกิจกรรมเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศขององค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศ และได้รับรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ (Thailand Quality Class: TQC) เพื่อให้หน่วยงานอื่น ๆ ได้นำไปใช้ เป็นแบบอย่างหรือประยุกต์ใช้ในการปรับปรุงกระบวนการและผลลัพธ์การดำเนินงานและบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน รวมทั้งเพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้หน่วยงานดำเนินการพัฒนาคุณภาพสู่ความเป็นเลิศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และได้มีการชี้แจงเกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์คุณภาพการศึกษา เพื่อการดำเนินการที่เป็นเลิศ ฉบับปี 2567-2570 ซึ่งได้ปรับปรุงมาจากเกณฑ์ Education Criteria for Performance Excellence ฉบับปี 2023-2024 ของ Malcolm Baldrige เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศมีความทันสมัยรองรับบริบทของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วย

         แนวปฏิบัติที่ได้ที่จากการเข้าร่วมการประชุม สรุปได้ดังนี้

        1. ผู้นำและบุคลากรทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ความเป็นเลิศโดยอาจจะเริ่มจากการสร้างบรรยากาศ และ Mindset การพัฒนาการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้กับบุคลากร

        2. แนวปฏิบัติการมีส่วนร่วมของบุคลากร ควรมีการกำหนดตัวชี้วัดสมรรถนะหลักของการประเมินผลการปฏิบัติราชการ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุน ส่งผลต่อการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน นอกจากนี้ควรมีการสร้างกิจกรรมเพื่อสร้างความผูกพันของบุคลากร เช่น การกดไลค์ กดแชร์ ของบุคลากร เพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และความผูกพันต่อองค์กร และการสื่อสารของมหาวิทยาลัย

        3. การสร้างเครือข่าย (Partner) ความร่วมมือ ควรมีการวางแผนกลยุทธ์เชิงรุก มีกิจกรรม (Activity) ครอบคลุมทุกภารกิจ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน

        4. มีการจัดทำหลักสูตรร่วมกันระหว่างเครือข่ายสถาบันจากต่างประเทศ เพื่อจัดทำหลักสูตรร่วมกัน เช่น หลักสูตร Double-degree Credit Non-Credit เป็นต้น

        5. มีการนำ SDGs ไปสอดแทรกไว้ในแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยและแผนปฏิบัติราชการประจำปี

        6. โครงการ Flagship ที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ หากมีการดำเนินการบรรลุแล้วและจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ควรผลักไปเป็นโครงการประจำ (Routine) และควรคิดโครงการใหม่ที่มุ่งเป้าหมายให้บรรลุวิสัยทัศน์

        7. มีการจัดการความรู้ (KM) อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างการเรียนรู้ระดับองค์กร โดยใช้ข้อมูลจริง (Fact) มาวิเคราะห์และสร้างเป็นข้อมูลสารสนเทศ

#PBRU #QAPBRU #SDGsPBRU #SDG17

ภาพกิจกรรม