ผลลัพธ์การเรียนรู้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี (PBRU DNA)
ตามที่ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ได้ประกาศกฎกระทรวงเกี่ยวกับมาตรฐานการอุดมศึกษามาจำนวน 5 ฉบับ เพื่อให้สภามหาวิทยาลัยออกแบบการบริหารจัดการ ออกระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้เกิดความคล่องตัวและความยืดหยุ่นในการจัดการศึกษา นั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานกำหนดปรัชญาการศึกษาและผลลัพธ์การเรียนรู้ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหาร บุคลากรภายในและภายนอกร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีวัตถุประสงค์
1) เพื่อวางแผนการกำหนดปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เรื่องกำหนดปรัชญาการอุดมศึกษาไทย และระบบอุดมใหม่ด้านการสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคน และ 2) เพื่อกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีให้สอดคล้องกับประกาศกฎกระทรวงมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา 2565 ข้อ 7 ที่ได้กำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ไว้อย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่ ความรู้ ทักษะ จริยธรรม ลักษณะบุคคล โดยคณะทำงานได้มีการสังเคราะห์กฎระเบียบและเอกสารที่เกี่ยวข้องในการจัดทำปรัชญาการศึกษาและผลลัพธ์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัย เช่น กรอบแนวคิดจากพระบรมราโชบาย หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นโยบายสภามหาวิทยาลัย นโยบายรัฐบาลประเด็นการพัฒนา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 ม.8 ปรัชญาการอุดมศึกษา และระบบอุดมศึกษาใหม่ด้านการสร้างบัณฑิตและสร้างกำลังคน คุณลักษณะของคนไทยที่มีคุณภาพในยุค 4.0 ยุทธศาสตร์พลิกโฉมมหาวิทยาลัย และนอกจากนั้นได้นำ KSA GAP ที่มีการสำรวจจาก สอวช. ซึ่งเป็นช่องว่างทางทักษะ (Skill Gap) ของกำลังแรงงานในปัจจุบัน Needed 56 ข้อย่อย (เป็นความต้องการในอนาคต) ของ McKinsey ความต้องการของนายจ้าง แล้วได้นำปรัชญาการศึกษาและผลลัพธ์การเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยไปประชาพิจารณ์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสร็จเรียบร้อยแล้ว มหาวิทยาลัยจึงมีการกำหนดปรัชญาการศึกษาไว้ว่า
“การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ สร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกช่วงวัยด้วยการศึกษาแบบยืดหยุ่น เน้นสมรรถนะผู้เรียนป็นสำคัญ สร้างประสบการณ์จากการปฏิบัติ มีความภาคภูมิใจในตนเอง สังคมและสถาบัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขด้วยคุณธรรม จริยธรรม บนพื้นฐานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน”
และกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ไว้ 5 ประเด็น ดังนี้ 1. ความรู้ (Knowledge) 2. ทักษะ (Skills) 3. จริยธรรม (Ethics) 4. ลักษณะบุคคล(PBRU Character) 5. ด้านอัตลักษณ์เฉพาะวิชาชีพ/ศาสตร์เฉพาะ Professional Identity